มือใหม่ : หายป่วย…ด้วยมือแม่

มกราคม 8, 2010

ช่วงต้นปีอากาศดีๆ แบบนี้ ‘ไข้หวัด’ มักมาเยี่ยมเยือนเด็กๆ อยู่เสมอ ทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ขวบจะเป็นไข้ได้ง่าย เนื่องจากกลไกควบคุมอุณหภูมิร่างกายของเขายังทำงานได้ไม่ดีพอ การเป็นไข้ในเด็กเล็กๆ มักเกิดจากปฏิกิริยาโต้ตอบ ที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อต้านเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย ซึ่งกว่า 95 เปอร์เซ็นต์จะหายได้เองโดยไม่ต้องพึ่งยา แต่สำหรับเด็กเล็กๆ หากมีไข้สูงนานกว่า 24 ชั่วโมง หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ต้องรีบพาไปพบคุณหมอทันทีค่ะ

แม่จ๋า…หนูไม่สบายตัว
นอกจากอาการไข้ตัวร้อน ที่บ่งบอกว่าลูกไม่สบายแล้ว คุณแม่ต้องสังเกตอาการอย่างอื่นที่บ่งชี้ว่า ลูกกำลังป่วยร่วมด้วย เพราะบางครั้งเด็กไม่สบายก็ไม่ได้มีอาการตัวร้อนก่อน  ถ้าลูกไม่ร่าเริง ง่วงซึมตลอดเวลา ไม่ยอมดูดนมตามปกติ ปฏิเสธอาหารเสริมที่เคยชอบ โยเย ร้องกวนมาก หรือร้องเสียงสูงๆ แสดงอาการหงุดหงิด โมโห กระสับกระส่าย ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนว่ามีอะไรบางอย่างผิดปกติที่ทำให้ไม่สบายตัวแล้วล่ะค่ะ

คุณหมอประจำบ้าน
การพาลูกไปพบแพทย์เมื่อลูกไม่สบายเป็นเรื่องจำเป็น แต่ถึงลูกจะได้พบแพทย์แล้ว ได้ยามาทานแล้ว แต่การดูแลเขายังคงเป็นหน้าที่ของคุณแม่อยู่ดี ยิ่งในเด็กเล็กๆ แม้เพียงไข้หวัดก็อาจทำให้เขาไม่สบายตัวได้ถึง 2 สัปดาห์เลยทีเดียว
ระหว่างนี้คุณแม่ต้องคอยป้อนยาให้เขาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ถ้าลูกป่วยเนื่องจากหวัด เวลานอนก็ควรจัดให้ลูกหนุนหมอนให้ศีรษะอยู่สูงกว่าตัวเล็กน้อย เพื่อให้เขาหายใจได้สะดวกขึ้น และหมั่นเช็ดตัวเพื่อช่วยลดอุณหภูมิร่างกายให้เขาด้วยค่ะ
และสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากในการดูแลลูกยามเจ็บป่วย ซึ่งคุณหมอที่โรงพยาบาลช่วยไม่ได้ ก็คือการสร้างความอุ่นใจให้ลูก คุณแม่คงเป็นคนพิเศษคนเดียวที่จะทำหน้าที่นี้ได้

หายป่วย…ด้วยมือแม่
ยามลูกไม่สบายเขาต้องการความอบอุ่นจากคุณแม่มากเป็นพิเศษ การสัมผัสอย่างอ่อนละมุนของแม่ อย่างการอุ้มพร้อมโยกตัวเบาๆ หรือแม้เพียงการวางมือลงบนตัวลูกแล้วลูบไล้ ก็ช่วยให้ลูกรู้สึกสบายตัวขึ้นได้
นอกจากนี้ระหว่างที่ลูกป่วย คุณแม่ควรพูดคุยกับลูกให้บ่อยขึ้น ไม่ต้องห่วงว่าลูกจะไม่เข้าใจที่คุณพูด เพราะทารกสามารถจดจำเสียงของแม่ได้ตั้งแต่เขายังอยู่ในท้องแล้ว เสียงของคุณจึงเป็นเสียงแห่งความคุ้นเคยที่สร้างความสบายใจให้ลูกได้เป็นอย่างดี การพูดคุยกับลูก แม้เขาจะยังไม่สามารถเข้าใจหรือคุยบอกเล่าความไม่สบายกายของเขาออกมาให้คุณรับรู้ได้ แต่เชื่อเถอะว่า เขาจะมีความสุข และรู้สึกผ่อนคลายความเครียดจากการเจ็บป่วยลงได้
สำหรับลูกเล็กๆ ที่เจ็บป่วย ความอบอุ่นและการดูแลอย่างใกล้ชิดของแม่ นับเป็นยาอีกขนานหนึ่งที่จะช่วยให้เขาหายป่วยได้เร็วขึ้นค่ะ
————–

บรรยายภาพ
ล้อมกรอบ 1
การวัดไข้เด็ก
ภาพ 01     กรณีใช้แถบวัดไข้เด็ก ควรทำความสะอาดหน้าผากลูกด้วยการใช้ผ้าขนหนูเช็ดเบาๆ ก่อน
ภาพ 02     จากนั้นติดแถบวัดไข้เด็กบริเวณกลางหน้าผากลูกโดยใช้นิ้วกดที่ปลายทั้งสองด้านไว้ รอประมาณ 30 วินาที แล้วดูว่าแถบสีเขียวขึ้นที่ตัวเลขใด
ภาพ 03     อีกวิธีหนึ่งที่สะดวกคือการใช้ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล ซึ่งวัดได้รวดเร็วอ่านค่าได้ง่าย
ภาพ 04     กรณีวัดไข้ทางรักแร้ ให้สอดปรอทวัดไข้ไว้ที่รักแร้ของลูก แล้วจับที่ข้อศอกเขาไว้ให้แขนแนบชิดกับลำตัว รอจนมีเสียงปิ๊บเตือนจึงอ่านค่า
________________________
ล้อมกรอบ 2
การป้อนยาด้วยกระบอกฉีดยาพลาสติก (Syringe)
ภาพ 05     กระบอกฉีดยาพลาสติกมีหลายขนาด ตั้งแต่ 1, 3, 5  ไปจนถึง 10 ซีซี
ภาพ 06     ข้อดีของการใช้กระบอกฉีกยาคือ มีขีดบอกปริมาตรที่ละเอียดแม่นยำ ทำให้สามารถดูดยาได้ตรงตามปริมาณที่ต้องการ
ภาพ    07     วิธีการอุ้มเด็กไว้ในวงแขน ค่อยๆ ฉีดยาในหลอดเข้าบริเวณกระพุ้งแก้มด้านใดด้านหนึ่งของลูก ไม่ควรฉีดเข้าตรงกลางปากเพราะลูกจะสำลักยาได้ง่าย ควรป้อนช้าๆรอจนกว่าลูกจะกลืนยาหมด
________________________
ล้อมกรอบ 3
ดื่มยาจากถ้วย
ภาพ 08     ยาน้ำสำหรับเด็กมักมีถ้วยตวงยามาให้ในกล่องยา โดยอาจมีขีดบอกปริมาตรเทียบเป็นช้อนชา เช่น  1/4, 1/2, 3/4 ช้อนชา หรือบางยี่ห้อก็ระบุเป็นซีซี ก่อนให้เด็กดื่มควรตรวจสอบปริมาตรยาให้พอดีกับที่ฉลากยาระบุไว้
ภาพ 09     ยาบางชนิดมีรสชาติขมเฝื่อน ถ้าขมมากคุณแม่สามารถเติมน้ำสะอาด หรือน้ำหวานลงไปเพื่อให้มีรสชาติอ่อนลงเด็กจะรับประทานได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ควรผสมยากับนม
ภาพ 10     การประคองลูกอย่างใกล้ชิดจะช่วยให้เขายอมดื่มยาได้ง่ายขึ้น
________________________
ล้อมกรอบ 4
การใช้หลอดหยดยา
ภาพ 11     การป้อนยาลูกด้วยหลอดหยดยา ต้องบีบที่หัวยางด้านบนของหลอดหยดยาเพื่อไล่อากาศออกก่อน จุ่มหลอดหยดลงในยา ค่อยๆ ปล่อยให้ยาถูกดูดขึ้นมาจนได้ปริมาตรที่กำหนด ถ้าเกินให้บีบออก
ภาพ 12     ข้อควรระวังในการใช้หลอดหยดยาคือ เวลาดูดยาต้องไม่ให้มีฟองอากาศเข้าไปในหลอดหยด เพราะจะทำให้ปริมาณยาที่ดูดเข้าไปไม่ตรงตามความต้องการ
ภาพ 13     ใช้วิธีเดียวกับการป้อนยาด้วยกระบอกฉีดยาคือ อุ้มลูกไว้ในวงแขน ค่อยๆ หยดยาในหลอดเข้าบริเวณกระพุ้งแก้มด้านใดด้านหนึ่งของลูกช้าๆ
________________________
ล้อมกรอบ 5
ช้อนป้อนยา
ภาพ 14     ช้อนป้อนยามักมาในกล่องยา ทำให้มีรูปร่าง สีสัน และขีดบอกปริมาตรแตกต่างกันออกไป จึงควรอ่านฉลากยาและสังเกตขีดที่ช้อนก่อนทุกครั้ง
ภาพ 15 หรือ 16     เด็กที่เคยรับประทานยาที่มีรสชาติหวานดื่มง่ายอาจยอมรับประทานยาจากช้อนแต่โดยดี แต่ถ้าเขาไม่ยอมคุณแม่อาจรินยาใส่ช้อนแล้วใช้กระบอกฉีดยาพลาสติกดูดยาป้อนให้ลูก หรือจะเทียบปริมาตร ดังนี้
1/4 ช้อนชา = 1.25 ซีซี
1/3  ช้อนชา = 1.70 ซีซี
1/2  ช้อนชา = 2.50 ซีซี
3/4 ช้อนชา = 3.75 ซีซี
1 ช้อนชา = 5 ซีซี

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร M&C แม่และเด็ก
ปีที่ 33 ฉบับที่ 455 มกราคม  2553


step for baby : เรียนรู้…ด้วยมือน้อยๆ

มกราคม 8, 2010

เด็กวัย 7 – 12 เดือน ค้นพบแล้วว่าสองมือน้อยๆ ของเขานั้นเป็นเครื่องมือสารพัดประโยชน์ในการไขว่คว้าและสำรวจที่สุดวิเศษ เขาจึงสนุกกับการใช้มือมากเป็นพิเศษ ทั้งตบพื้น ตีโต๊ะ หรือแม้กระทั่งพยายามหยิบตัวการ์ตูนออกมาจากหนังสือนิทาน
นี่จึงเป็นโอกาสดีๆ ที่เราจะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ สิ่งต่างๆ รอบตัวผ่านการใช้มือ ซึ่งจะนำไปสูพัฒนาการการเรียนรู้ด้านอื่นๆ ต่อไป
พัฒนาการของลูกวัยนี้ ก้าวหน้ากว่าตอนช่วง 4-6 เดือนแรกของชีวิตมาก จากที่เคยทำได้เพียงพลิกคว่ำพลิกหงายและเล่นกับมือตัวเอง แล้วค่อยๆ ใช้ข้อมือยันตัวขึ้นสู่ท่านั่งได้ชั่วครู่ จนกระทั่งอายุครบ 8 เดือน เขาจึงนั่งได้อย่างมั่นคง และหากคุณแม่ลองจับเขายืน เขาจะเริ่มลงน้ำหนักที่เท้าแล้วซอยเท้าเล่นอย่างสนุกสนาน
และหลังจากนั้นเขาก็จะพาตัวเองไปทุกที่ได้ตามใจต้องการแล้วล่ะ

เสียหลักล้มตึง…เรื่องธรรมดา
แม้ช่วงนี้เจ้าตัวเล็กจะใช้มือหยิบของเก่งแล้ว แต่ลักษณะการ ‘หยิบ’ ของของเขาจะเป็นแบบการใช้ฝ่ามือตะปบ แล้วหยิบขึ้นมาเพราะเขายังใช้ปลายนิ้วได้ไม่คล่องนั่นเอง ถ้าได้ของถูกใจแล้วล่ะก็ เขาจะถือไว้นาน แถมยังเปลี่ยนมือที่ถือได้อย่างคล่องแคล่วเชียวค่ะ
แต่เขายังกะระยะในการตะปบได้ไม่เก่ง แถมยังใจร้อน จึงมักเสียหลักหน้าทิ่มหรือหงายหลังลงพื้นอยู่บ่อยๆ ดังนั้น คุณแม่ควรหาผ้านุ่มๆ มาปูไว้บริเวณที่ลูกนั่งเล่นด้วยนะคะ ให้เวลาเขาสักนิด ปล่อยให้เขาคว้าลิ่งของต่างๆ มาเล่นบ่อยๆ ถือ เป็นการช่วยให้เขาฝึกสายตาให้ประสานกับมือได้ดีขึ้นค่ะ

รู้มั้ย…หนูชอบของที่อยู่ใกล้ๆ
หลังจากวัย 7 เดือน ลูกจะสามารถแปลภาพลักษณะคร่าวๆ ของวัตถุที่เห็นได้เพียง 3 อย่าง คือ ทรงกลม สามเหลี่ยม และสี่เหลี่ยม นั่นเป็นเหตุผลให้เด็กๆ โปรดปรานของเล่นอย่างลูกบอลและบล็อกไม้สีสันสดใสเป็นพิเศษ
แต่ถ้าให้เขาเลือกหยิบสิ่งของที่มีรูปทรงเดียวกัน ไม่ว่าจะลูกบอลหรือบล็อกไม้ที่มีขนาดและระยะทางที่วางต่างกัน เขาจะเลือกของชิ้นเล็กที่อยู่ใกล้ มากกว่าของชิ้นใหญ่ที่อยู่ไกลออกไป ก็แหมของที่อยู่ในระยะตะปบเนี่ยมันคว้าง่ายกว่านี่คะ

ยิ่งใช้มือเก่งยิ่งต้องระวัง
หากคุณแม่ฝึกให้เขาใช้มือบ่อยๆ พออายุ 8-9 เดือน เขาจะใช้มือได้คล่องขึ้น และสามารถใช้สายตากะระยะสิ่งของได้อย่างแม่นยำ และจะเริ่มใช้หัวแม่มือและนิ้วชี้หยิบของเล็กๆ ขึ้นมาแทนการใช้ฝ่ามือตะปบแบบเดิม
ไม่น่าเชื่อใช่มั้ยคะว่าเวลาแค่เดือนสองเดือนเด็กๆจะมีพ้ฒนาการได้ดีขนาดนี้  พอถึงตอนนี้คุณแม่คงต้องจัดการบ้านให้สะอาดเรียบร้อยที่สุดด้วยนะคะ เพราะนอกจากเขาสามารถมองเห็นวัตถุชิ้นเล็กๆ ได้แล้ว เขายังสามารถใช้นิ้วเล็กๆ หยิบของนั้นขึ้นมาดู และพร้อมเอาเข้าปากชิมด้วย!!

บรรยายภาพ
01 ลูกบอลหลากสี ของเล่นสุดคลาสิก ที่เด็กๆ โปรดปราน เพราะในช่วงแรกๆ ของชีวิตสายตาเขาจะสามารถแปลภาพคร่าวๆ ของวัตถุที่เห็นได้เพียง 3 อย่าง คือ ทรงกลม สามเหลี่ยม และสี่เหลี่ยม

02 ของเล่นหยิบหยอด นี่ก็อีกอย่างที่ช่วยพัฒนาการด้านการใช้มือของลูกได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยฝีกความช่างสังเกต ให้เด็กๆ ได้แยกแยะว่าสิ่งไหนมีรูปทรงเหมือนหรือต่างกัน

03 ภาพที่เห็นบ่อยๆ หลังจากเด็กๆ หยิบของขึ้นมาพินิจพิจารณา ก็คือการเอาเข้าปากชิมด้วย นี่เป็นเรื่องธรรมดาค่ะ เพราะเด็กๆ จะมีสัมผัสทางปากและลิ้นที่ดีมาก เหมือนๆ กับที่ผู้ใหญ่เราใช้มือสัมผัสความนุ่ม – แข็ง เย็น – ร้อน ของสิ่งต่างๆ

04 ของเล่นที่มีเขย่าแล้วมีเสียง อาจสร้างความรำคาญใจให้ผู้ใหญ่ในบางครั้ง แต่เจ้าของเล่นเล็กๆ ที่ไม่มีกลไกสลับซับซ้อนนี้กลับช่วยเด็กๆ ให้รู้จักประสานการใช้มือ การมองเห็น และการได้ยิน เข้ากันได้อย่างดี

05 คุณแม่สามารถช่วยให้ลูกใช้นิ้วมิอได้คล่องขึ้นด้วยการหาของเล่นที่มีปุ่มกดเยอะๆ วางใกล้ตัวลูก เขาจะรู้ได้ด้วยตนเองว่าจะจัดการกับมันอย่างไร และแน่นอนยิ่งจิ้มยิ่งใช้นิ้วคล่อง ไม่นานท่าหยิบของด้วยการใช้ฝ่ามือตะปบก็จะเปลี่ยนเป็นการใช้นิ้วหยิบ

06 ถ้าลูกยังใช้นิ้วไม่คล่อง ลองของหาที่เปิด – ปิดได้ มาให้ลูกเล่น ระหว่างที่เขาใช้มือ (ทั้งมือ) เปิดๆ  ปิดๆ นั่นล่ะค่ะที่กล้ามเนื้อมือของลูกจะค่อยๆ แข็งแรงขึ้น นำไปสู่การใช้นิ้วได้อย่างคล่องแคล่ว

07 บ่อยครั้งที่เราจะเห็นเด็กๆ ทำท่าทางเลียนแบบคุณแม่ อย่างการป้อนนมตุ๊กตา เป็นนิมิตหมายที่ดีว่าเขาได้เรียนรู้ทักษะทางสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นแล้วล่ะค่ะ
(ถ้าที่ไม่พอตัดออก)

08 ว่ากันว่าที่เด็กๆ ชอบหยิบหนังสือมาเล่นไม่ใช่เพราะเรื่องราวในนั้น แต่เป็นเพราะเขาถูกใจที่ตัวเองสามารถใช้มือพลิกกระดาษไปมาได้ และยิ่งเห็นภาพน่ารักๆ สัสันสดใส ก็จะยิ่งถูกใจจนอยากหยิบภาพนั้นออกมาจากหนังสือเลยล่ะค่ะ งานนี้ได้ประโยชน์สามต่อคือได้ทั้งฝึกมือ ฝึกสายตา แล้วยังเป็นการปลูกฝังการรักการอ่านให้ลูกไปในตัว

09 ของเล่นเสริมพัฒนาการไม่จำเป็นต้องแพงค่ะ ลองเอาของเหลือใช้ในบ้านอย่างกล่องทิชชู่ มาทำกล่องของเล่นหยอดหยิบแบบง่ายๆ ก็เข้าท่าดีค่ะ ทั้งประหยัด ทั้งสนุก

10 เวลาลูกร้องโยเย การอุ้มเขาขึ้นมาปลอบโยนเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ไหนๆ ก็อุ้มแล้วลองพาเขาไปใกล้ๆ โมไบล์สวยๆ ที่แขวนประดับบ้านไว้ ให้ลูกได้เอื้อมมือคว้าจับเล่นเพลินๆ นอกจากแก้อารมณ์หงุดหงิดของเจ้าตัวเล็กได้ชะงัดแล้ว ยังช่วยให้ลูกใช้มือเก่งได้โดยไม่รู้ตัว

11 น่าทึ่งแค่ไหนที่เด็กเล็กๆ สามารถเรียนรู้ความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว อย่างเจ้ารีโมตคอนโทรลเนี่ย ไม่ต้องมีใครสอน แต่เด็กช่างสังเกตจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า พอคว้ามากด ภาพในทีวีจะเปลี่ยนไป

12 พัดลม…ของใช้อันตรายในบ้านที่ไม่ควารมองข้าม ก็ลูกกำลังอยู่ในช่วงฝึกการใช้มือและนิ้วด้วยตัวเองนี่คะ ถ้าคุณแม่เผลอเขาอาจเอานิ้วแหย่เข้าไปขณะที่พัดลมหมุนอยู่ก็ได้
(ถ้าที่ไม่พอตัดออก)

13 การเอาของเล่นไปซ่อนแล้วให้ลูกหา ช่วยฝึกความช่างสังเกต ไปพร้อมๆ กับพัฒนาการด้านอื่นๆ ลองเล่นไปสักพัก เผลอๆ เขาจะกลับเป็นฝ่ายเอาของไปซ่อนแล้วให้คุณหาก็เป็นได้
(ถ้าที่ไม่พอตัดออก)

14 ของเล่นที่มีสายยาวๆ มีเชือกห้อยแบบนี้ ถึงจะช่วยให้ลูกได้สนุกกับการใช้มือดึงแต่ก็ต้องระวัง เพราะเชือกอาจรัดคอเด็กได้ ทางที่ดีควรเล่นโดยมีผู้ใหญ่อยู่ใกล้ๆ และต้องสังเกตดูว่าความยาวของเชือกมากไปหรือเปล่า ถ้าเชือกยาวเกิน 20 เซนติเมตรไม่ควรให้เด็กเล่นค่ะ  (ถ้าที่ไม่พอตัดออก)

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร M&C แม่และเด็ก
ปีที่ 33 ฉบับที่ 455 มกราคม  2553


Step for Mom : เปรี้ยว…มีประโยชน์

มกราคม 8, 2010

(ภาพเปิด 1)
พูดถึงคนท้อง ใครบ้างไม่นึกถึงของเปรี้ยว…
ยิ่งช่วงแพ้ท้อง ผลไม้รสเปรี้ยวจี๊ดจ๊าด เป็นสิ่งแรกๆ ที่คุณแม่จะนึกถึงและหามาใช้ปราบอาการวิงเวียน คลื่นไส้ พะอืดพะอม…ซึ่งก็มักจะได้ผลซะด้วยสิ
มาดูกันค่ะว่า ของเปรี้ยวๆ นั้นมีประโยชน์กับคนท้องอย่างไรบ้าง

เปรี้ยวจี๊ด…กับผลไม้ (ภาพ MOM 0001.TIF)
ว่ากันว่า คนท้องนั้นมักอยากรับประทานของเปรี้ยว โดยเฉพาะผลไม้รสชาติจี๊ดจ๊าด ซึ่งนอกจากทานให้หายอยากกันแล้ว เจ้าของเปรี้ยวนั้นยังช่วยลดอาการแพ้ท้องให้คุณแม่ได้ด้วย โดยเฉพาะ มะนาว มะม่วงเปรี้ยว มะขามเปียก มะขามป้อม มะดัน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดอาการแพ้ท้อง แล้วยังอุดมด้วยวิตามินซี ที่ช่วยการดูดซึมธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันโรคโลหิตจางทางอ้อม เพราะธาตุเหล็กมีความจำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือด หากคุณแม่ได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ จะทำให้คุณแม่เป็นโรคโลหิตจาง อ่อนเพลียง่าย ซีด นอกจากนี้ยังอาจทำให้ลูกที่เกิดมาเป็นโลหิตจางไปด้วย
แต่ของไม่เปรี้ยว อย่างฝรั่ง มะละกอ ลำไย ลิ้นจี่ พุทรา เงาะ แคนตาลูป และผักสดก็มีวิตามินซีมากเช่นกันค่ะ ลองหาทานสลับกันไป จะได้ทั้งสารอาหารได้ทั้งรสชาติที่ไม่จำเจ
ที่เน้นเรื่องวิตามินซี นี้เพราะร่างกายเราดูดซึมและขับถ่ายวิตามินซีออกเร็วมาก จึงควรรับประทานบ่อยๆ ค่ะ

ภาพ 01 น้ำมานาวนอกจากช่วยลดอาการแพ้ท้องแล้วยังอุดมด้วยวิตามินซี
ภาพ 02 ผลไม้รสเปรี้ยวรับประทานคู่กับไอศกรีมช่วยเพิ่มความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า
ภาพ 03 ยำมะม่วงสุดจี๊ดของโปรดของคุณแม่ตั้งครรภ์หลายๆ ท่าน
ภาพ 04 ส้มตำผลไม้…เมนูนี้มากกว่าความอร่อย

เปรี้ยว…อุดมคุณค่า (ภาพ MOM 0002.TIF หรือ MOM 0003.TIF)
นอกจากผลไม้เปรี้ยวๆ แล้ว นมก็เป็นของอีกอย่างที่เมื่อพูดถึงคนท้องเแล้วจะไม่พูดถึงเรื่องนี้ไม่ได้ ในปัจจุบันมีนมหลากหลายชนิดให้เลือกดื่ม ทั้งนมวัว นมแพะ นมถั่วเหลือง และนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตพร้อมดื่ม
สำหรับคุณแม่บางคนที่ดื่มนมแล้วปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย เนื่องจากร่างกายขาดเอนไซม์แลกเตส ที่ทำหน้าที่ย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม แต่ต้องการดื่มนมเพื่อบำรุงครรภ์ การดื่มโยเกิร์ตพร้อมดื่ม ก็จะช่วยให้ได้รับสารอาหารต่างๆ ครบถ้วน ไม่ต่างจากการดื่มนม แถมยังไม่ต้องผจญกับอาการท้องไส้ปั่นป่วน นอกจากนี้เชื้อจุลินทรีย์ในโยเกิร์ตยังช่วยย่อยอาหารและแก้ท้องผูกได้อีกด้วย
โยเกิร์ตพร้อมดื่มในปัจจุบันนี้มี 2 ชนิดให้เลือก คือ ชนิดพาสเจอร์ไรส์หรือแบบบรรจุขวดที่เราคุ้นเคยกันดี และชนิดยูเอชที ที่มาในกล่องลักษณะเดียวกับนมกล่องทั่วๆ ไป
คนท้องที่ต้องการดื่มโยเกิร์ตพร้อมดื่มนั้น ควรเลือกซื้อโยเกิร์ตพร้อมดื่มที่มีปริมาณนมมากและมีน้ำตาลต่ำ รวมทั้งควรสังเกตสารอาหารต่างๆ ที่มีอยู่ในนมนั้นว่ามีครบถ้วนเพียงพอสำหรับคนท้องหรือไม่ ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกโยเกิร์ตพร้อมดื่มสูตรเฉพาะสำหรับคนท้องจะดีกว่าค่ะ เพราะตามปกติแล้วโยเกิร์ตพร้อมดื่มมักมีโปรตีนน้อยกว่านมวัวทั่วไป

ภาพ 05 และ 06 เพิ่มคุณค่าของเครื่องดื่มแก้วโปรดด้วยการเติมโยเกิร์ตลงไปเล็กน้อยก็จะได้สมูทตี้รสดี
ภาพ 07 หรือง่ายกว่านั้นก็แค่เติมผลไม้หลากรสลงในโยเกิร์ตรสธรรมชาติ แค่นี้ก็ได้อาหารว่างเปรี้ยวอุดมคุณค่าแล้ว

เปรี้ยวสวย…ด้วยการแต่งตัว (ภาพ MOM 0004.TIF)
เป็นที่รู้กันว่าอารมณ์ของคุณแม่มีผลต่อลูกในครรภ์ ช่วงแพ้ท้องนอกจากจะเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยลดอาการแห้ท้องให้สบายเนื้อสบายตัว ผ่อนคลายความเครียดแล้ว การลุกขึ้นมาแต่งสวยก็ช่วยให้อารมณ์ดีได้ค่ะ
เพราะสำหรับคุณแม่บางท่าน อาการแพ้ท้องอาจเกิดจากสภาพจิตใจที่กำลังปรับสู่สถานะใหม่ของการเป็นแม่ ความเครียด ความกังวล และต้องการการดูแลเอาใจใส่ความรู้สึกลึกๆ ในใจเหล่านี้จะส่งผลออกมาทางร่างกายทำให้เกิดอาการแพ้ท้องได้ค่ะ
ดังนั้น ลองทำอะไรตามใจตัวเองดูบ้าง อย่างการแต่งตัวสวยๆ ออกไปเที่ยว หรือทำกิจกรรมต่างๆ ที่ทำแล้วสบายใจ ก็จะช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้อง ที่เกิดจากความเครียดได้ค่ะ
เดี๋ยวนี้มีเสื้อผ้าสวยๆ สำหรับคนท้องให้คุณแม่ได้เลือกมากมาย ในช่วงที่ยังแพ้ท้องอยู่นี้ รูปร่างคุณแม่จะยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิมนัก เรียกว่ายังคงแต่สวยได้เต็มที่ แค่เลือกชุดที่หลวม สวมใส่แล้วรู้สึกสบายไม่อึดก็พอแล้ว
หรือจะลองใช้เวลาว่าง เอาเสื้อผ้าที่มีอยู่มาประยุกต์ให้เป็นชุดเก๋ๆ ก็จะได้ทั้งความเพลิดเพลินกับการออกแบบ และความสบายใจเมื่อได้สวยในแบบของตัวเอง
เห็นมั้ยล่ะ ว่าเรื่องเปรี้ยวๆ น่ะ มีประโยชน์สำหรับคนท้องจริงๆ
——————–

ล้อมกรอบ 1 (ถ้าที่ไม่พอตัดออก)
Did You Know?
โฟเลทกับการตั้งครรภ์  (ภาพล้อมกรอบ 1)
Folate หรือวิตามิน B9 เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ มีส่วนช่วยป้องกันความผิดปกติทางระบบประสาทของเด็ก (Neural Tube Defects) มีมากในผักสีเขียว ปลา ตับ กล้วย ถั่วต่างๆ ส้ม มันฝรั่ง แครอท ถั่ว รำข้าว ไข่แดง ในช่วงก่อนตั้งครรภ์และ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ร่างกายคุณแม่ต้องการโฟเลทสูง ซึ่งหากคุณไปฝากครรภ์แล้วแพทย์ให้ยาเม็ดเล็กๆ สีเหลืองๆ กลับมารับประทานล่ะก็ นั่นล่ะค่ะโฟเลทชนิดเม็ด

ล้อมกรอบ 2 (ต้องลง)
คุณสกาวรัตน์ จักษ์ตรีมงคล
คุณแม่ตั้งครรภ์ 7 เดือน   (ภาพล้อมกรอบ 2)

“ช่วงก่อนท้องก็ทานนมได้ตามปกตินะคะ แต่ช่วงที่แพ้ท้องนี่ทานอะไรแทบไม่ได้เลย พอพ้นจากช่วงแพ้ก็พยายามกลับมาทานนมใหม่ ก็เลือกนมสำหรับคนท้องเพราะเพื่อนๆ แนะนำ โดยเริ่มจาก แอนมัม โยเกิร์ตพร้อมดื่มรสผลไม้ สูตรสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะมีรสชาติอร่อยรับประทานง่าย คือรสชาติจะเป็นแบบเดียวกับนมเปรี้ยวที่เคยดื่มก่อนตั้งครรภ์น่ะค่ะ แล้วก็ค่อยๆ ปรับไปทานนมสำหรับคนท้องรสอื่นๆ อย่างนมถั่วเหลือง นมรสจืด
…แรกๆ นี่เรียกว่าหัดดื่มนมใหม่อีกครั้งเลยค่ะ ต้องเริ่มจากจิบๆ ทีละน้อย ทานนมคู่กับขนมบ้าง คุกกี้บ้าง เพราะตั้งใจให้สิ่งดีๆ กับลูกน่ะค่ะ พอเริ่มคุ้นก็สบายแล้วค่ะ ตอนนี้ดื่มได้หมด ดื่มมาครบทุกรสแล้วล่ะค่ะ”

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร M&C แม่และเด็ก
ปีที่ 33 ฉบับที่ 455 มกราคม  2553