เรื่องไอ้กร 6 : สวัสดีวันใหม่

ธันวาคม 30, 2006

1129001612olpic_711.jpg

ศุกร์ 29 ธันวาคม วันทำงานวันสุดท้ายของปี 2549
ฉันกลับถึงบ้านในสภาพโทรมสุดฤทธิ์
จมอยู่กับต้นฉบับกองมหึมา 3 อาทิตย์เต็มๆ ไม่โทรมยังไงไหว
แต่ฉันไม่ได้กลับบ้านมามือเปล่า
เข้าเทศกาลปีใหม่ทั้งที มันต้องมีของติดไม้ติดมือกลับมาบ้าง
ก็บรรดาของฝากของขวัญ ของจากกระเช้าปีใหม่ไงล่ะ

ฉันเหนื่อยเกินกว่าจะนั่งพินิจพิจารณาว่า บรรดาข้าวของที่โกยๆ ใส่ถุงกลับมานั้นมีอะไรบ้าง
ไอ้หนูกร–คุณหลานตัวดีที่ยังคึกอยู่เลยลงมือคุ้ยซะ

มือมันคุ้ยของออกจากถุง ปากมันก็เล่า
“ไปโรงเรียนวันนี้ สนุ้กสนุก…ไม่ต้องเรียนหนังสือ…”
ดูมัน สนุกเพราะไม่ต้องเรียน
“อ้าวแล้วไปทำอะไรล่ะ”
“ตอนเช้าก็ไปใส่พระ…”
“เค้าเรียกใส่บาตร…”
“นั่นแหละๆ ใส่บาตรแล้วก็มีกินเลี้ยง จับของขวัญ มีขนมเยอะแยะ…แล้วทำไมต้องปีใหม่ด้วย…?”

คุณน้าไม่ทันตอบคุณหลานก็ชูขวดพลาสติกฝาสีแดงข้างในมีผงสีขาวบรรจุอยู่ขึ้น แล้วถาม
“นี่ไร กินได้มั้ย?”
เพิ่งรู้ว่าในกระเช้าของขวัญปีใหม่มีผงชูรสอยู่ด้วย !!!
“เค้าไว้ใส่กับข้าว ให้มันอร่อย แต่กินเยอะๆ ไม่ดี เดี๋ยวหัวล้าน…”
“ไม่ดีแล้วทำไมจะกิน….?”

คุณน้าไม่ทันตอบมันเปลี่ยนเรื่องอีก
“ทำไมคราวนี้ไม่มีหนังสือระบายสี…ไม่มีตุ๊กตา?”
ใครว่าเด็กจำเรื่องที่ผ่านไปนานๆ แล้วไม่ได้กัน มันจำได้ว่าคราวก่อนโน้นได้อะไรมาบ้าง
“ก็น้าไม่ได้ทำหนังสือเด็กแล้วนี่”
“หนังสือที่น้าทำตอนนี้ไม่เห็นมีการ์ตูน ไม่มีเกมระบายสี…แล้วมีคนซื้อหรอ…?”
ดูมันถามเข้า
“มันก็…มีรูปสวยๆ แบบที่ผู้ใหญ่ชอบดูไง คนโตๆ เค้าไม่ชอบหนังสือระบายสีหรอก”

“แล้วทำไมต้องปีใหม่?” ไอ้กรวกกลับมาคำถามเดิม
คุณน้าที่สมองตื้อ ตาปรือจะหลับมิหลับแหล่มึน ไม่รู้จะตอบยังไง
“ทำไมต้องมีงานปีใหม่ วันใหม่มันมีทุกวันนี่ ทำไมไม่มีงานวันใหม่ทุกวันเลย?”
“ฉลองทุกวันคนก็เบื่อแย่สิ ปีละหนพอแล้ว”
“ไม่เบื่อ สนุกออก”
“เออ…ไม่เบื่อก็ไม่เบื่อ ไปนอนไป๊ พรุ่งนี้มาฉลองวันใหม่กัน”
คุณน้ารีบไล่มันไปนอน ก่อนที่มันจะถามอะไรยากไปกว่านี้
…………………….
แต่…
นั่นสินะ
วันใหม่มีทุกวัน

30 ธันวาคม 2549


ผึ้งงาน

ธันวาคม 9, 2006

 [BeeRice[1].jpg]

ภาพ : สายลมลอย

เคยเบื่อ เหนื่อย ท้อกันมั้ย
เบื่อความไม่ยุติธรรม
ท้อกับการดำรงชีวิต
เหนื่อยกับการอยู่ท่ามกลางผู้คน
หน่ายจนเกิดความคิดว่า…ไม่น่าเกิดมาเป็นคนเลย
……………..

หยุดความคิดนั้นซะ
ความไม่เท่าเทียมมีอยู่ทุกที่ไม่เว้นแม้แต่สังคมของสัตว์ตัวเล็ก ๆ อย่างผึ้ง

บอกได้ไม่ยาก ว่าน้องผึ้งที่เห็นในภาพ เป็นน้องผึ้งสาว
ไม่ใช่เพราะเจ้าของภาพเซ็นเซอร์ไว้ แต่เห็นอยู่ว่าเธอกำลังหาอาหาร

แปลกที่บทความส่วนใหญ่ แบ่งประเภทของผึ้งออกเป็น 3 กลุ่ม
คือ ผึ้งนางพญา ผึ้งตัวผู้ และ ผึ้งงาน
ไม่ยักบอกตรงๆ ว่า ผึ้งงาน หมายถึง ผึ้งตัวเมีย (ที่ไม่ใช่ผึ้งนางพญา)

ชีวิตน้องผึ้งสาวแสนลำเค็ญมาตั้งแต่แรกคลอดเป็นตัวอ่อน
พวกเธอจะได้ห้องส่วนตัวรูปหกเหลี่ยมขนาดเล็กจิ๋ว
ใช่…เล็กกว่าห้องของผึ้งตัวผู้ และ ผึ้งนางพญา
เธอจะได้กินนมผึ้งเพียง 3 วันแรกของชีวิต
เธอจะต้องทำงานหนัก ทั้งซ่อมรังเก่า สร้างรังใหม่ หาอาหารเลี้ยงบรรดาผึ้งหนุ่ม ผึ้งเด็ก ผึ้งนางพญา
ทั้งยังต้องคอยระวังภัยให้อีกต่างหาก

ก็ผึ้งตัวผู้ไม่มีเหล็กไนไว้ป้องกันตัว
ลิ้นก็สั้น หาอาหารเองก็ไม่ได้

ชีวิตผึ้งตัวผู้ดู ๆ น่าสบาย ไม่ต้องทำอะไรก็มีกิน
แต่ดูเหมือนผึ้งตัวผู้จะถูกกำหนดให้เกิดมาเพียงเพื่อทำหน้าที่สืบพันธุ์เท่านั้น
ทำหน้าที่เสร็จมันก็จะตาย ถ้าเลี่ยงไม่ทำตามหน้าที่ก็จะถูกปล่อยให้อดตายอยู่ดี

ผึ้งนางพญาล่ะ ชีวิตเธอน่าจะสุขี เกิดมากินดีอยู่ดี
ดีซะจนเธออายุยืนกว่าผึ้งอื่นๆ
ขณะที่ผึ้งงานมีอายุ 6-8 สัปดาห์
ผึ้งนางพญามีอายุ 1-2 ปี
นั่นเท่ากับ 52-104 สัปดาห์เชียว
คิดดูตลอดชีวิตเธอต้องเห็นเพื่อนผึ้งตายไปนับแสนตัว !!!
เธอจะเศร้ามั้ยนะ
หรือบางทีเธออาจจะเบื่อ
ที่ต้องกิน ๆ นอน ๆ วางไข่อยู่ซ้ำ ๆ อยากตายแต่ไม่ตายสักที
………………………..

ถ้าต้องเกิดเป็นผึ้ง คุณอยากเป็นผึ้งชนิดใด
ผึ้งงาน ทำงานหนักจนวันตาย
ผึ้งตัวผู้ ไม่ต้องทำงาน แต่หากินเองไม่ได้ ป้องกันตัวเองก็ไม่ได้ และอายุสั้น
ผึ้งนางพญา มีชีวิตแสนสุข บนความเศร้าแสนครั้ง

บางทีในความไม่เท่าเทียม มีความเท่าเทียมแฝงอยู่
ธรรมชาติสร้างทุกสิ่งไว้สมดุลเสมอ

9 ธันวาคม 2549


บนรถเมล์ (1)

ธันวาคม 2, 2006

victorymo.jpg

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทุ่มครึ่ง
บนรถเมล์สาย 140

เด็กนักเรียนชายชั้นมัธยมปลายเดินผ่านไปนั่งด้านหน้าฉัน
ตัวโตดีจัง…ฉันคิดถึงหลาน…อีกสัก 10 ปีจะตัวโตเท่านี้มั้ยนะ
อยากให้หลานโตเร็วๆ

รถเคลื่อนออกจากอนุสาวรีย์ฯ
ฉันคิดเรื่อยเปื่อย ตอนมัธยมปลาย เวลาเกือบสองทุ่มนี่ฉันอยู่ที่ไหนนะ
ไม่ใช่บนรถเมล์แน่ๆ

กลิ่นอาหารบางอย่างโชยมาแตะจมูก
ฉันมองหา…แม่บ้านคนไหนซื้อกับข้าวไปฝากคนที่บ้านหนอ

เปล่าเลย ต้นตอของกลิ่นมาจากด้านหน้าฉันนี่เอง
เด็กชายแกะข้าวกล่องอีซี่โกกิน
ข้างกายเขามีเป้ใบใหญ่ ชีทของสถานกวดวิชาชื่อดัง และน้ำเปล่า 1 ขวด
เขานั่งด้านหน้าสุด น่าจะมีแค่ฉันและคนขับรถที่ได้เห็นว่าเขากินอย่างหิวจัดเพียงใด

ไปทำอะไรมาถึงหิวขนาดนี้ ?
แล้วนี่ข้าวมื้อไหนเนี่ย ?

เกือบชั่วโมง กว่ารถจะลงจากทางด่วนได้
เด็กชายเก็บกล่องข้าวและขวดน้ำลงถุงพลาสติก

เด็กชายตัวโต
เป้ใบใหญ่
ชีทของสถานกวดวิชาชื่อดัง
กล่องข้าวและขวดน้ำที่ว่างเปล่า เคลื่อนผ่านฉันไป

ฉันคิดถึงหลานอีกครั้ง
อย่าเพิ่งรีบโตเลยนะ

2 ธันวาคม 2549