มือใหม่ : เปลี่ยนมื้อป่วนเป็นมื้อโปรด

พฤศจิกายน 27, 2009

บ่อยครั้งอาหารอันโอชะที่คุณแม่บรรจงปรุงแต่งอย่างพิถีพิถันไม่สามารถมัดใจลูกน้อยวัยซนได้ โดยเฉพาะกับลูกวัย 1-6 ปี ที่จะให้กินอาหารแต่ละมื้อคุณแม่แทบหมดแรงเลยทีเดียว คุณแม่บางท่านถึงกับหมดความมั่นใจไปเลยว่า…หรือเป็นเพราะฝีมือทำอาหารของเรานั้นจะไม่ได้เรื่องกันแน่?
ความจริงแล้วสาเหตุการไม่ยอมทานอาหารของเด็กวัยนี้ ไม่เกี่ยวกับรสชาติหรือหน้าตาของอาหารสักเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่เด็กวัย 1-6 ปีนั้น เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง ค้นพบอิสระในการเคลื่อนไหว สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ทำให้เขาพบว่า มีเรื่องอื่นที่น่าทำมากกว่าการนั่งลงรับประทานอาหารตั้งเยอะ

(หน้า 2 ภาพ 002 003 009)
กินยากเรื่องพบง่าย
     เชื่อมั้ยคะว่า มีคุณแม่ถึง 61.67% ทะเลาะกับลูกเรื่องการทานข้าวมาแล้ว นี่เป็นผลการสำรวจจากสวนดุสิตโพล ที่ทำการสอบถามความคิดเห็นของคุฯแม่ที่มีลูกอายุ 2-6 ขวบ จำนวน 1,148 คน ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ วิธีการแก้ปัญหาของคุณแม่ 2 อันดับแรก ที่พบว่ามีถึง 35% จัดการจบความปั่นป่วนของมื้ออาหารนั้นด้วยการอ้อนวอนและติดสินบนลูก และอีก 17.88% บ่นและดุว่า  ซึ่งนั่นไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดีเลย
ต่างวัยต่างความชอบ
คุณแม่ที่มีลูกทานยาก ควรรู้ว่าระดับความอยากอาหาร ความชอบ และวิธีการรับประทานอาหารของเด็กแต่ละวัยนั้นแตกต่างกัน ดังนั้น หากจะเป็นคุณแม่ที่รู้ใจเรื่องการกินของลูก ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า…
>> เด็กอายุ 1 ขวบครึ่งถึง 4 ขวบ จะกินช้ามากเพราะห่วงเล่น ชอบให้หลอกล่อ ให้แม่ป้อนและชมเวลากิน
>> เด็ก 5 ขวบ ไม่ชอบอาหารที่เป็นก้อน หรือเป็นแท่ง ชอบพูดขณะกินอาหาร และยังอยากให้คุณแม่ป้อนอยู่ถึงจะตักอาหารเองได้แล้วก็ตาม
>> เด็ก 6 ขวบ ชอบกินอาหารคำโตๆ กินหกเลอะเทอะ และมักจะคายออกทันทีถ้าไม่ถูกใจ
>> มื้อเย็นลูกมักอยากและทานอาหารได้มากกว่ามื้อเช้า
>> ความเร็วในการรับประทานอาหารสัมพันธ์กับความสามารถในการเคลื่อนไหวของเด็ก

เทคนิคกระตุ้นความหิว
เมื่อรู้ใจลูกแต่ละวัยแล้วก็มาถึงการสร้างแรงจูงใจ ให้เด็กๆ เกิดความอยากรับประทานอาหาร ซึ่งได้แก่ การ…
     >> เตรียมอาหารหลายๆ ชนิด เพื่อให้ลูกเลือกทานได้ 
     >> ไม่ตักอาหารให้ลูกมากเกินไป จนลูกรู้สึกว่ากินไม่ไหวแน่ๆ 
     >> อย่ายอมให้ลูกทานนม หรือขนมแทนข้าว ถ้าเขาไม่ทานอาหารมื้อหลัก
     >> ให้ลูกได้นั่งโต๊ะรับประทานอาหารพร้อมกับพ่อแม่และทานอาหารแบบเดียวกับผู้ใหญ่ เขาจะเกิดความรู้สึกว่า เขาโตแล้ว และภาคภูมิใจกับการได้ตักอาหารรับประทานเอง  
     >> ปิดทีวี เกมคอมพิวเตอร์ระหว่างรับประทานอาหาร เพื่อให้ลูกมีสมาธิในการกินมากขึ้น 
     >> หากเขายังมัวโยกโย้ไม่ยอมรับประทานเมื่อทุกคนอิ่มแล้วให้เก็บอาหาร หรือกำหนดเวลามื้ออาหารลูกแต่ละมื้อไว้ไม่เกินมื้อละ 30 นาที  
     เรื่องความหลากหลายของอาหารนั้น หากจะให้ได้ประโยชน์ และคุณค่าทางอาหารเต็มที่ควารเน้นทั้งเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ 
     เด็กบางคนไม่ชอบทานเนื้อสัตว์ เพราะเหนียว เคี้ยวยาก ควรบดหรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ให้รับประทานง่ายขึ้น
     การเลือกผักที่มีสีสันสดใส อย่างแครอท ฟักทอง มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว จะช่วยให้เด็กอยากลองรับประทานมากขึ้น แต่ถ้ายังไม่ได้ผล ลองนำผักไปชุบแป้งทอด หรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปผสมในอาหารที่ลูกชอบ        
     ส่วนผลไม้นั้น อาจเริ่มจากเลือกผลไม้ที่มีรสชาติอร่อยรับประทานง่าย อย่างแอปเปิ้ลแช่เย็นหั่นให้ลูกถือแทะเล่น เพื่อให้ลูกคุ้นเคยกับการรับประทานผลไม้ หรืออาจให้ลูกได้ช่วยทำน้ำผลไม้ง่ายๆ อย่างคั้นน้ำส้ม ก็ได้อร่อยแบบมีประโยชน์และความสนุกจากการได้ลงมือคั้นน้ำผลไม้เองจะช่วยเพิ่มความอร่อยได้อีกเยอะ
หน้า 3 (ภาพ 005 006 007 008 เรียงกัน เล็กๆ ก็ได้)
เปลี่ยนมื้อป่วนเป็นมื้อโปรด
การชักชวนให้ลูกช่วยทำอาหารด้วย จะช่วยให้เด็กๆ สนุกและอยากกินอาหารที่ตนเองมีส่วนร่วมในการทำมากขึ้น
     เรื่องนี้ น้องแพงขวัญ – ด.ญ. พรรณภัสสร สุขสกล และคุณแม่กรองกาญจน์  ชูสังข์ มีวิธีง่ายๆ ในการทำอาหารที่ได้คุณค่าครบถ้วน มาฝากค่ะ นั่นก็คือ การทำ “แซนด์วิชสุดรัก” โดยคุณแม่จะเตรียมแม่พิมพ์สำหรับตัดขนมปัง แฮม ชีส และไข่ดาว ให้เป็นรูปต่างๆ ทั้งดอกไม้ และหัวใจไว้ ซึ่งน้องแพงขวัญจะสนุกกับการปั๊มพิมพ์ลงบนขนมปังมาก นอกจากนี้การได้ทาน้ำสลัด วางแฮม ผักต่างๆ ลงบนขนมปัง ก็ทำให้แซนด์วิชที่มีส่วนประกอบแสนธรรมดา (แต่มีสารอาหารครบทุกหมู่) อร่อยขึ้นเยอะเลยล่ะ
การฝึกรับประทานอาหารให้เป็นเวลาและครบทุกหมู่นั้น ในช่วงแรกๆ คุณแม่อาจจะต้องเหนื่อยและใช้ความอดทนมากสักหน่อย แต่ถ้าฝึกบ่อยๆ ลูกก็จะคุ้นเคยกับการรับประทานอาหารเมื่อถึงเวลา แล้วทีนี้มื้ออาหารที่แสนปั่นป่วนก็จะกลายเป็นมื้อโปรดของทั้งคุณและลูก

TIPS :
>> อาหารมื้อเช้า เป็นมื้อสำคัญสำหรับเด็กๆ คุณแม่ที่ไม่ค่อยมีเวลาในการทำอาหารเช้า ควรเตรียมอาหารไว้ตั้งแต่ตอนกลางคืน เพื่อให้ลูกได้รับประทานอาหารเช้าที่มีคุณค่าในเวลาอันรวดเร็ว 
     >> เด็กที่มีพี่ มักชอบเลียนแบบพี่ ดังนั้น หากคุณฝึกลูกคนพี่เรื่องการกินได้สำเร็จ ลูกคนน้องก็มักจะไม่มีปัญหาเรื่องการกินยาก

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร M&C แม่และเด็ก
ปีที่ 33 ฉบับที่ 453 พฤศจิกายน  2552


Step for Baby : วินัยเริ่มได้ด้วยงานบ้าน

พฤศจิกายน 27, 2009

เด็กสมัยนี้ ไม่มีวินัย ไร้ระเบียบ ไม่รู้จักรับผิดชอบ…นี่เป็นคำกล่าวที่เราได้ยิน ได้ฟังกันบ่อยๆ 
     แต่ที่ได้ยินบ่อยกว่านั้น คือเสียงบ่นของคุณพ่อคุณแม่ที่ว่า “ไม่รู้จะแก้ปัญหานี้อย่างไร?” ทั้งๆ ที่ทางแก้นั้นไม่ได้อยู่ไกลตัวเลย
เชื่อมั้ยคะว่าการสอนลูกให้รู้จักช่วยงานบ้านจะช่วยพิชิตปัญหานี้ได้

ประโยชน์หลายสถานของงานบ้าน
การฝึกให้ลูกเล็กๆ รู้จักช่วยเหลือตัวเองง่ายๆ อย่างการกลัดกระดุม ใส่รองเท้า ผูกเชือกรองเท้าเอง ก่อนที่จะก้าวเข้ามาช่วยงานคุณแม่  เป็นการฝึกทักษะการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อและสายตา ช่วยให้เด็กใช้มือได้คล่อง รู้จักการสังเกตและแก้ปัญหา เช่น จะสวมรองเท้าอย่างไรให้ถูกข้าง 
     สิ่งเหล่านี้ มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กเมื่อโตขึ้น โดยมีการสำรวจพบว่าเด็กที่ได้รับการฝีกให้ช่วยเหลือตัวเอง จะพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการฝึกที่มักจะทำเฉพาะสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ไม่ค่อยมีความพร้อมในการรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และขาดวินัย
     เมื่อลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเองแล้ว การชักชวนให้ลูกทำงานบ้าน โดยทำให้งานบ้านเป็นเรื่องที่น่าสนุก เด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบต่องาน และการมีวินัย ไปโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น ควรทำให้การทำงานบ้านเป็นกิจกรรมที่สนุกสำหรับทุกคนในครอบครัว โดยคุณอาจคิดเกมสนุกๆ ขึ้นมาเล่นระหว่างทำงาน เช่น แข่งกันเช็ดจาน ถูบ้าน รดน้ำต้นไม้ แต่ต้องระวังเรื่องการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่อาจเป็นอันตราย และควรชมเชยในความพยายามของลูกแม้บางครั้งเขาอาจยังทำได้ไม่ดีพอก็ตาม
หน้าที่ไม่ใช่เพื่อรางวัล
หลายครอบครัวตั้งเงินรางวัลล่อใจให้ลูกทำงานบ้าน ทั้งที่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำที่สุด เพราะการทำเช่นนั้น เด็กจะเข้าใจว่า การทำงานบ้านเป็นงานที่ทำแล้วต้องได้ผลตอบแทน ถ้าไม่ได้ผลตอบแทนเขาก็จะไม่ทำ
คุณจึงควรให้ลูกได้รับรู้ว่า ทุกคนในบ้านต้องช่วยกันทำงานบ้านเพื่อให้บ้านสะอาด น่าอยู่ ทุกคนจะได้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
ถ้าถามว่า ไม่ให้เงินรางวัลลูกแล้วจะใช้สิ่งใดจูงใจให้เด็กอยากทำงาน?
ในช่วงแรกๆ คุณพ่อคุณแม่ อาจต้องทำสมุดสะสมแต้ม เพื่อจูงใจให้เด็กอยากทำงานเยอะๆ ชมเชยเมื่อลูกทำงานได้ดี และพยายามให้ความสำคัญกับการทำงานบ้าน อย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ไม่สลักสำคัญอะไร เพราะเด็กๆ มักจะรู้สึกดีใจและภูมิใจ เมื่อทราบว่าสิ่งที่ทำไปนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งเดียวกับที่ผู้ใหญ่ทำกัน เมื่อเกิดความรู้สึกเช่นนี้ การทำงานบ้านก็จะเป็นหน้าที่ที่เขาทำได้อย่างภาคภูมิใจโดยไม่หวังเงินรางวัลตอบแทน

วัยไหนทำอะไรดี
งานบ้านที่จะให้ลูกทำนั้น ควรเป็นงานที่ไม่ยุ่งยาก หรือมีหลายขั้นตอนลูกจะรู้สึกเบื่อ เมื่อเลือกงานบ้านที่จะให้ลูกทำได้แล้ว เมื่อเห็นว่าเขายังทำได้ไม่ดีอย่าเพิ่งเปลี่ยนใจให้เขาทำอย่างอื่น ควรให้ลูกลองทำจนเสร็จ และคอยให้คำแนะนำ
แต่งานที่เลือกให้ลูกทำนั้น ต้องเหมาะสมกับวัยของลูกด้วย เช่น

ลูกวัย 1 – 3 ขวบ
ฝึกให้เด็กเก็บของเล่นใส่ตะกร้าหรือกล่องใส่ของเล่นเมื่อเล่นเสร็จ เวลาเข้าบ้านให้วางรองเท้าในที่เก็บรองเท้าให้เรียบร้อย ช่วยวางช้อนส้อมบนโต๊ะอาหาร พยายามให้เขาจับช้อนกินข้าวเอง ช่วยหยิบเสื้อผ้าใส่เครื่องซักผ้า เวลาไปเที่ยวต้องเดินเอง ไม่ควรอุ้มโดยไม่จำเป็น ให้ช่วยเก็บของเข้าที่

ลูกวัย 3 – 6 ขวบ
ลูกวัยอนุบาลควรถอดเสื้อ กางเกง ถุงเท้า รองเท้าได้เอง หัดใส่เสื้อผ้าเอง ฝึกอาบน้ำเอง โดยมีคุณแม่คอยดูแลเรื่องความสะอาดซ้ำอีกครั้ง จากนั้นก็เริ่มฝึกแต่งตัว กลัดกระดุม ผูกเชือกรองเท้า ฝึกให้เขาช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด และเป็นผู้ช่วยคุณแม่ ทำงานง่ายๆ อย่างเก็บที่นอน หมอน ช่วยพับผ้าผืนเล็กๆ เก็บของเล่นเข้าที่ เก็บเสื้อผ้าที่ใช้แล้วลงตระกร้า ให้ช่วยเก็บจาน ถ้วยน้ำ เมื่อรับประทานเสร็จแล้ว

ลูกวัย 7 – 12 ขวบ
เมื่อถึงวัยนี้ควรให้ลูกรับผิดชอบตัวเองได้มากขึ้น เช่น เตรียมเสื้อผ้า ชุดนักเรียนเอง จัดเตรียมอุปกรณ์การเรียน สมุด หนังสือ จัดตารางสอน เตรียมอุปกรณ์การเรียนตามที่ครูสั่ง
ให้เขาได้ช่วยงานบ้านที่ยุ่งยากมากขึ้น เช่น กวาดบ้าน ล้างจาน รดน้ำต้นไม้ ซักผ้า ช่วยคุณแม่ทำอาหาร ล้างรถ ฯลฯ

การให้ลูกมีหน้าที่ทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ จะช่วยให้เขาได้เรียนรู้เรื่องความมีวินัย รู้จักรับผิดชอบและทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีต่ออนาคตจของลูก      แต่ต้องไม่ลืมว่า ความสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ ควรให้เขาได้รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายอย่างต่อเนี่อง เพราะเลิกเมื่อไหร่หรือลูกรู้สึกขี้เกียจขึ้นมาแล้วละก็ การจะเริ่มฝึกกันใหม่นั้น บอกได้เลยว่ายาก

TIPS :
ช่วงเปิดเทอมแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจพบปัญหาความวุ่นวายยามเช้า ที่ลูกไม่ยอมไปโรงเรียน เรามีเคล็ดลับการฝึกวินัยการไปโรงเรียนให้ลูก มาฝากค่ะ
>> อย่าใจอ่อน ถ้าลูกขอหยุดเรียน
>> อย่าไปส่งเขาเอง ถ้าปกติลูกขึ้นรถโรงเรียน
>> อย่าแสดงท่าทีตกใจ หรือกังวลเกินเหตุเมื่อลูกมีอาการไม่สบายตอนเช้าๆ
>> อย่าเอาของขวัญ รางวัลมาล่อ
สรุปง่ายๆ ก็คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจแข็งเข้าไว้นั่นล่ะค่ะ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร M&C แม่และเด็ก
ปีที่ 33 ฉบับที่ 453 พฤศจิกายน  2552


Step for Mom : เตรียมห้องนอนให้ลูกรัก

พฤศจิกายน 27, 2009

การจะบอกลูกให้รู้ว่า เขาโตพอที่จะแยกจากพ่อแม่ไปนอนคนเดียวในห้องของตัวเองได้แล้วนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก คุณแม่หลายท่านเล่าให้ฟังว่าลูกไม่ยอม ทั้งร้องอาละวาด ไม่เป็นอันนอนทั้งแม่ลูก จนต้องเปลี่ยนแผนเลื่อนเวลาแยกห้องนอนใหม่อีกครั้งเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น  ทั้งที่ความจริงเราสามารถแยกเด็กให้นอนในห้องของเขาเองได้ตั้งแต่ลูกอายุได้  3 – 6 ขวบ เพียงแต่ต้องปรับการแยกห้องของเขาอย่างนุ่มนวลเท่านั้นเองค่ะ
สำรวจห้องกันก่อน
     นอกจากตัวลูกที่เป็นกังวลกับการแยกห้องนอนแล้ว คุณแม่เองก็คงกังวลไม่น้อยว่า ลูกจะหลับสบายและปลอดภัยมั้ย การเลือกห้องให้ลูกจึงควรใช้ห้องที่อยู่ติดกับห้องของคุณแม่คุณพ่อ ถ้ามีประตูเชื่อมถึงกันได้ก็ยิ่งดี ในช่วงแรกๆ คุณอาจได้ยินเสียงลูกร้องกลางดึก ควรเข้าไปหาเขาเพื่อให้ลูกรู้สึกว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้ง แต่ไม่ควรเข้าไปหาเขาเกินคืนละ 2 ครั้งนะคะ เพราะเขาจะร่ำร้องหาคุณไม่เลิก
และก่อนที่จะปล่อยให้ลูกรักได้หลับสบายและใช้ชีวิตในห้องส่วนตัวของเขา เรามาสำรวจกันก่อนดีกว่า ว่าห้องนอนที่คุณเตรียมไว้ให้ลูกนั้นมีความปลอดภัยแค่ไหน
>> ควรวางเตียงของลูกไว้ชิดผนังด้านใดด้านหนึ่ง ถ้าลูกยังเล็กและนอนดิ้นควรมีที่กั้นข้างเตียงกันการพลัดตก
>> ถ้าประตูห้องของลูกอยู่ตรงกับบันไดควรติดตั้งประตูกั้นทางขึ้นลงบันไดไว้ และปิดประตูนั้นไว้เสมอ
>> ควรปิดหน้าต่างลงกลอนไว้และเอาเก้าอี้ที่ลูกอาจใช้ปีนขึ้นไปเปิดกลอนได้ออกไปจากห้อง
>> รวบเก็บเชือกผ้าม่านให้เรียบร้อย เพราะลูกอาจดึงเชือกเล่นจนเกิดอุบัติเหตุได้
>> ไม่เก็บของเล่นบนชั้นสูงๆ ควรวางในที่ที่เด็กหยิบได้สะดวกโดยไม่ต้องปีน
>> สำรวจลิ้นชักว่าแน่นหนาดีหรือเปล่า ถ้าใช้ลิ้นชักที่ตัวลิ้นชักไม่สามารถดึงออกจากตัวตู้ได้ จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุจากการที่เด็กถูกลิ้นชักหล่นลงมาทับได้
>> ไม่เก็บยา สารเคมีใดๆ ไว้ในห้องของลูก
เตรียมความพร้อมก่อนเข้านอน 
     การบอกลูกเพียงสั้นๆ ว่า เขาโตพอที่จะแยกจากพ่อแม่ไปนอนคนเดียวในห้องของตัวเองได้แล้ว นั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาหลับสบายในส่วนตัวได้หรอกค่ะ 
     การจะส่งลูกเข้านอนในห้องใหม่ได้นั้นคุณควรกำหนดเวลานอนของลูกให้เป็นเวลาที่แน่นอน โดยให้เด็กๆ หยุดเล่นและปิดทีวีก่อนถึงเวลานอนสักครึ่งชั่วโมง เพื่อให้เขาเข้านอนได้อย่างสงบ จากนั้นพาลูกแปรงฟันล้างหน้าและเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย เพื่อที่เขาจะได้ไม่ต้องตื่นขึ้นมาพบกับความมืดเพราะปวดปัสสาวะกลางดึก
ให้พ่อหรือแม่ คนใดคนหนึ่งเท่านั้นเป็นคนส่งลูกเข้านอนในแต่ละคืน ไม่ควรเข้าไปพร้อมกันทั้งพ่อและแม่เพราะอาจทำให้เวลาเข้านอนต้องยืดเยื้อไปอีก พ่อหรือแม่ที่ทำหน้าที่ส่งลูกเข้านอนควรใช้เวลาอยู่กับลูกสักพัก โดยอาจเล่านิทานให้เขาฟัง นิทานที่เล่านั้นควรเป็นเรื่องที่จบลงด้วยความสุข อย่าเลือกเรื่องที่น่ากลัว หรือเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัยตื่นเต้น ซึ่งอาจทำเด็กนอนไม่หลับ ฝันร้ายกลางดึกได้
หาหมอนหรือตุ๊กตานุ่มๆ ให้ไว้เป็นเพื่อนลูก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเข้านอน และเป็นเครื่องสร้างความอบอุ่นใจให้ลูกได้รู้สึกว่ามีเพื่อนอยู่ข้างๆ ตลอดเวลา
ในกรณีที่ลูกแสดงอาการหวาดกลัวเมื่อต้องอยู่คนเดียวในห้องส่วนตัวของเขา พ่อแม่ควรชวนลูกสำรวจห้องให้ทั่วเสียก่อน เพื่อให้ลูกมั่นใจว่าห้องของเขาปลอดภัยพอ ถ้าลูกกลัวความมืดควรเปิดไฟดวงเล็กๆ ทิ้งไว้ หรือแง้มประตูห้องเพื่อให้มีแสงสว่างจากภายนอกลอดเข้าไปในห้องได้
บอกลูกให้รู้ล่วงหน้าก่อนที่เขาจะถูกปล่อยให้อยู่คนเดียวสัก 10 นาที เพื่อเขาจะได้เตรียมใจไว้ก่อน หากลูกมีอาการไม่สบายใจวิตกกังวลมาก ในระยะแรกคุณอาจต้องยอมอยู่กับเขาจนกว่าเขาจะหลับสนิท
วันรุ่งขึ้นควรกล่าวชมลูกด้วยว่าเขาเก่งมากที่สามารถนอนคนเดียวได้ เขาจะภาคภูมิใจว่าตัวเองนั้นโตแล้ว การทำเช่นนี้บ่อยๆ ลูกจะเคยชิน จนสามารถเข้านอนได้เองและตื่นขึ้นอย่างมีความสุขในทุกๆ เช้า
ขอบคุณ :
Kids’ room Furniture @ AUSSINO House ถนนชิดลม
โทร. 02 254 2780

ล้อมกรอบ
คุณนนทกานต์ ทัพพะรังสี อึง Managing Director บริษัท เค เอ็น เค เอ็น รีเทล จำกัด ในฐานะที่เป็นคุณแม่ลูกสองที่ใส่ใจการดูแลลูกในทุกขั้นตอนพัฒนาการ ให้คำแนะนำกับคุณแม่ท่านอื่นๆ ที่กำลังจะเตรียมห้องนอนให้ลูกว่า 
     “ควรจะใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ด้วยนะคะ อย่างเช่น บรรยากาศของห้อง ควรมีแสงสว่างเพียงพอ การเลือกผลิตภัณฑ์ที่แน่ใจว่าปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นสีที่ใช้ทาผนังห้องต้องไม่มีส่วนผสมที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็ก โต๊ะ ตู้ เตียง ต้องไม่มีเหลี่ยมมุม ที่กระแทกแล้วจะเป็นอันตราย ผ้าปูที่นอน ชุดเครื่องนอนก็ควรเป็นชนิดที่ทำจาก Cotton 100% เพื่อลดอาการระคายเคืองที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่ควรปูพรมในห้องของลูกเพราะพรมจะเป็นที่สะสมฝุ่น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดภูมิแพ้ได้ง่าย
…ข้อสำคัญ ความพร้อมของเด็กเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม หากเด็กไม่พร้อมที่จะแยกออกไปนอนตามลำพัง เขาอาจรู้สึกว่าถูกผลักไสจากห้องเดิมที่เคยอยู่พร้อมหน้าพ่อแม่ลูกให้ไปอยู่ที่อื่น เขาจะ เอ๊ะ…พ่อแม่ไม่อยากให้เขาอยู่ด้วยแล้วหรือ แต่ถ้าเขาพร้อมเขาจะสนุกกับการตกแต่งห้องใหม่ซึ่งจะเป็นที่ส่วนตัวของเขาอย่างแท้จริง
…ดังนั้น นอกจากการทำความเข้าใจกับลูกแล้ว ควรให้เขาได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ ตกแต่งห้องของเขาด้วย อาจจะเลือกแบบ ลาย หรือจัดมุมของเล่นตามสไตล์ของเขา เพียงเท่านี้ ลูกก็จะปรับตัวเข้ากับห้องใหม่ได้สบายๆ แล้วล่ะค่ะ”

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร M&C แม่และเด็ก
ปีที่ 33 ฉบับที่ 453 พฤศจิกายน  2552