New Mom 2 : ฝึกหายใจ…คลายความเจ็บปวด

นอกจากการฝึกสมาธิเพื่อคลายความกังวลแล้ว การฝึกหายใจของคุณแม่  ยังช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากการบีบตัวของมดลูกลงได้ แต่คุณต้องรู้จักวิธีการหายใจที่ถูกต้องก่อน และต้องรู้จักนำไปใช้อย่างถูกจังหวะด้วยจึงจะเห็นผล
ซึ่งการหายใจเพื่อบรรเทาการเจ็บครรภ์นี้มีหลายวิธี คุณจึงควรฝึกการหายใจหลายๆ รูปแบบไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อให้สามารถทำได้อย่างคล่องแคล่วเมื่อใกล้คลอดยังไงล่ะคะ
ปกติแล้วการหายใจเป็นการกระทำโดยอัตโนมัติ ควบคุมโดยศูนย์ควบคุมการหายใจในสมองส่วนล่างสุด โดยศูนย์ควบคุมการหายใจส่งคลื่นประสาทเป็นจังหวะไปยังกล้ามเนื้อซี่โครงและกระบังลม ทำให้กล้ามเนื้อหดและคลายตัว เป็นผลให้จังหวะการหายใจมี 3 ระยะ คือ หายใจเข้า หายใจออก และจังหวะพัก
การหายใจเข้าเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะมีคาร์บอนไดออกไซด์สะสมในเลือดจึงเกิดการกระตุ้นศูนย์ควบคุมการหายใจให้ทำการหายใจเข้าโดยอัตโนมัติ ดังนั้น จังหวะการหายใจเข้า-ออก จึงควรสอดคล้องกับคลื่นประสาทควบคุมของศูนย์การหายใจในสมอง คุณจึงควรเรียนรู้จังหวะการหายใจโดยการถอนหายใจยาวๆ แล้วรอจนรู้สึกต้องการหายใจเข้า จังหวะพักระหว่างการหายใจเข้าและออกนี้เรียกว่า จังหวะพักหายใจตามธรรมชาติ
     การฝึกหายใจถือว่าเป็นการหายใจที่ขัดขวางต่อการหายใจตามธรรมชาติทั้งสามระยะ คือแทนที่จะปล่อยให้การหายใจเป็นไปตามปกติ ก็ควบคุมให้เป็นการกระทำอย่างตั้งใจ การทำสมาธิที่เราแนะนำใน New Mom 1 ก็เป็นการฝึกหายใจอย่างหนึ่ง และในตอนนี้เรากำลังจะการฝึกหายใจเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดกันค่ะ
จังหวะของการหายใจแบบตั้งใจ ที่เรากำลังจะฝึกกันใน New Mom 2 นี้ เราจะฝึกควบคุมการหายใจ 3 แบบ คือ หายใจลึกและต่ำ หายใจระดับกลาง และ การหายใจระดับสูง
ฝึกการหายใจลึกและต่ำ
การหายใจลึกและต่ำ จะใช้กล้ามเนื้อท้องเป็นหลัก ฝึกได้ด้วยการยกมือข้างหนึ่งวางบนหน้าท้อง หายใจเข้าช้าๆ สูดลมหายใจเข้าจนรู้สึกมือถูกผลักออกมา การหายใจเข้าระดับนี้ทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมลดลงต่ำสุดเป็นผลให้โพรงอกและปอดขยายตัว อากาศจึงเข้าสู่ปอดได้เต็มที่
ฝึกการหายใจระดับกลาง
การหายใจระดับกลางแตกต่างจากการหายใจลึกตรงที่เปลี่ยนจากการใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องมาเป็นการกล้ามเนื้อระหว่างซี่โครง ทำได้โดยการวางมือใต้ชายโครง หายใจเข้าช้าๆ จนรู้สึกมือยุบลง การหายใจจังหวะนี้กระบังลมไม่ได้ยุบตัวลงตามจังหวะการหายใจแต่กล้ามเนื้อระหว่าซี่โครงจะหดตัว ดึงให้ซี่โครงขยายออก ทำให้โพรงอกขยาย
ฝึกการหายใจระดับสูง
การหายใจระดับสูง เป็นการหายใจโดยใช้กล้ามเนื้ออกเป็นหลัก ทำได้โดยการพาดมือข้างหนึ่งบนหน้าอก บริเวณใต้กระดูกไหปลาร้า ปล่อยไหล่สบายๆ แล้วหายใจเข้าจนมือยุบลง ทรวงอกขยับตัว การหายใจระดับนี้กระบังลมจะลดตัวต่ำ เป็นผลให้ส่วนบนของปอดขยายตัว  แต่การหายใจแบบนี้เป็นการหายใจระดับตื้น ไม่ควรทำบ่อยๆ เพราะอาจทำให้ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
การฝึกหายใจทั้งสามแบบนี้ ควรเลือกทำทีละแบบเท่านั้น โดยทำตามขั้นตอนช้าๆ เป็นจังหวะไม่รีบเกินไป และไม่ควรทำนานเกิน 10 นาที ระหว่างฝึกหายใจหากพบว่ามือเท้าเย็น รู้สึกคล้ายจะเป็นลมควรรีบสูดหายใจเข้าลึกๆ เพราะอาการที่เกิดขึ้นแสดงว่าร่างกายคุณเริ่มจะได้รับออกซิเจนน้อยเกินไปแล้วล่ะค่ะ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร M&C แม่และเด็ก
ปีที่ 33 ฉบับที่ 453 พฤศจิกายน  2552

ใส่ความเห็น